Burmese Buddhist Art นิทรรศการพระพม่า

ชื่อนิทรรศการ  :  Burmese Buddhist Art

นิทรรศการ  “Burmese Buddhist Art”  เป็นการจัดแสดงศิลปะพม่า  โดยเฉพาะประติมากรรมพระพุทธรูปพระพม่าในการสะสมของ คุณศุภโชค  อังคสุวรรณศิริ  ประธานหอศิลป์ ‘ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์’ (Subhashok the Arts Centre)   ซึ่งมีทั้งหมด  9 องค์ด้วยกัน  ในรูปแบบลักษณะที่แตกต่างกันไปทั้งรูปลักษณ์  ยุคสมัย  วัสดุ  หรือวิธีการสร้างสรรค์   ล้วนเป็นพุทธศิลป์ที่งดงามและทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง 

ประเทศสหภาพพม่า (Burma) หรือ เมียนมาร์ (Myanmar)  เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันกับทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย  ถือได้ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์  แต่เนื่องด้วยประเทศพม่าปิดประเทศเป็นเวลานาน   ทำให้ศิลปวัฒนธรรมพม่านั้นไม่เป็นที่ได้เผยแพร่สักเท่าใดนัก  อีกทั้งเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับพุทธศิลป์พม่าก็ยังมีผู้ศึกษาอยู่น้อย   จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้นำพระพุทธรูปพม่าแท้ๆ มาจัดแสดงนิทรรศการให้แก่ประชาชนที่สนใจได้ชม

พม่า  เป็นประเทศที่มีรากทางประวัติศาสตร์ยาวนาน  และมีความเกี่ยวข้องกันเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านที่คนไทยคุ้นเคยกันดี   ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์  สังคม  การเมือง หรือเศรษฐกิจ  หากกล่าวถึงประเทศพม่าความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะนึกถึง   ชนชาวพม่าให้ความสำคัญพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด  ความเลื่อมใสศรัทธาส่งผลแก่งานพุทธศิลป์ต่างๆ   รวมถึงงานประติมากรรมด้วย  พระพุทธรูปของพม่าถือได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างสูง   และเปี่ยมไปด้วยสุนทรียศาสตร์แห่งความงาม 

นอกเหนือจากความวิจิตรงดงามตระการตาของพระพุทธรูปแล้ว  นิทรรศการครั้งนี้ยังต้องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศพม่า  ประวัติศาสตร์ศิลปะ   และพระพุทธรูปในยุคต่างๆ แก่ผู้ชมที่สนใจในเนื้อหาข้อมูลเพิ่มเติมของศิลปะพม่า   โดยเนื้อหาที่นำมาสรุปนั้นมีการอ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสเป็นหลัก  ข้อมูลโดย Jean Boisselier,  Gordon  H.Luce,  และ Pierre Pichard   อีกทั้งเนื้อหาข้อมูลประวัติศาสตร์ศิลป์พม่าจากหนังสือของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล  และศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม  และคำแนะนำจากผู้มีความรู้ทางศิลปะเอเชียอีกหลายท่าน 

อย่างไรก็ตามเนื้อหาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะหรือนักโบราณคดีแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันในรายละเอียด   อีกทั้งตำราที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะพม่านั้นยังมีผู้ศึกษาอยู่น้อย  ดังนั้นข้อมูลที่จัดทำออกมานั้นอาจจะยังไม่สมบูรณ์ครอบคลุมในทุกด้าน   แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็หวังว่าจะให้สาระและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธรูปพม่าแก่ผู้ที่สนใจ  และมีความสุขในการชื่นชมพระพุทธรูปทั้ง 9 องค์ในนิทรรศการครั้งนี้

text writer : Preuksapak Chorsakul  (ภฤศภัค  ช่อสกุล)

ประวัติศาสตร์  พุทธศาสนา และศิลปะพม่า

สหภาพเมียนมาร์หรือประเทศพม่าในปัจจุบัน เป็นดินแดนหนึ่งที่เริ่มมีการเข้ามาใช้งานพื้นที่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ  อาทิ ขวานหินขัด ลูกปัด  เครื่องประดับ  งานสำริด  และภาชนะดินเผาเทคนิคพื้นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆในภูมิภาคใกล้เคียงบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 7 ทั้งนี้พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งภูเขา พื้นที่ราบลุ่ม แม่น้ำ และยังมีพื้นที่บางส่วนติดทะเลจึงดึงดูดให้มนุษย์เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนาน

จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 อารยธรรมอินเดียเริ่มแพร่ขยายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการเดินเรือติดต่อค้าขาย จึงได้นำอารยธรรมเหล่านั้นเข้ามาเผยแพร่ด้วย  โดยมีเมืองท่าสำคัญที่ตั้งติดอยู่กับชายอ่าวเบงกอลอย่าง เมืองสะเทิม  แถบอ่าวเมาะตะมะ  เมืองธัญญวดี  เมืองเวสาลีในรัฐยะไข่  เป็นจุดแรกรับอารยธรรมอินเดียในแผ่นดินของพม่า  ก่อนที่จะส่งผ่านติดต่อค้าขายยังส่วนอื่นๆต่อไป   ช่วงเริ่มรับอารยธรรมอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 7-11  มีจดหมายเหตุของจีน ได้กล่าวถึงอาณาจักรปยูซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 8    ส่วนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนากล่าวไว้เกี่ยวกับการเดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนาของสมณทูตจากอินเดีย ในช่วงเวลาเดียวกับการเผยแพร่พุทธศาสนาในศรีลังกา

ประเทศสหภาพพม่า (Burma)  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมาร์ (Myanmar)  ตั้งอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีนหรือเอเชียอาคเนย์  ภูมิอากาศอยู่ในย่านมรสุมเขตร้อน  สภาพภูมิประเทศตอนบนค่อนข้างแห้งแล้งกว่าตอนล่าง  มีแม่น้ำอิระวดีเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านจากทิศเหนือสู่อ่าว  เบงกอล ทางทิศใต้ ประเทศพม่าประกอบด้วยหลายชนชาติ  เมืองสำคัญต่างๆด้านประวัติศาสตร์  ศิลปวัฒนธรรม การปกครอง และเศรษฐกิจ  ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ  ซึ่งศิลปะพม่าส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย   โดยเฉพาะอินเดียตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้ประเทศพม่ามากที่สุด  แต่พม่าก็นำมาปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเฉพาะตัวและรักษาเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างมาก

ศิลปะพม่าส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา  รวมทั้งจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของชาวพม่าด้วย  เนื่องจากพม่ายังนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด  แบบแผนในงานศิลปะจึงปฏิบัติเข้มงวดตามประเพณี และสะท้อนให้เห็นความเชื่อและวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า

สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดียตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ฝ่ายนิกายหินยานหรือเถรวาทแบบลังกาวงศ์   ควบคู่ไปกับการนับถือผีสางเทวดา เช่น คติความเชื่อเรื่องผีนัต วิญญาณบรรพบุรุษ และศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู  ศิลปกรรมแสดงปรากฏออกมาสืบเนื่องผสมผสานมาจากแบบหินยานและมหายาน ซึ่งกล่าวได้ว่าศิลปะเกี่ยวกับพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์มากที่สุด  เพราะมีรูปแบบเฉพาะตัวและสร้างขึ้นภายใต้ความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง  ทั้งความงามทางสถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  จิตรกรรม  ศิลปหัตถกรรมหรืองานประยุกต์ศิลป์ต่างๆ   จนกล่าวได้ว่าเป็นแดนพุทธศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศิลปะพม่ามีประวัติความเป็นมายาวนาน  แต่การศึกษาเริ่มขึ้นเมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย  ดังนั้นการจัดสมัยศิลปะพม่าของนักวิชาการส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์เป็นต้นมา  การจัดสมัยจะเรียกตามเมืองหรืออาณาจักรซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางปกครองในอดีต  เพราะเมืองเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและวิวัฒนาการการสร้างประเทศ   ดังนั้นศิลปะพม่าอาจแบ่งยุคสมัยได้ดังนี้  (ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล,2538 : 316) 

-สมัยปยู (Pyu)  ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14

-สมัยมอญ (Mon) ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14

-สมัยพุกาม (Pagan) ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16-18 

-สมัยอังวะ (Ava)  ราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 

-สมัยหลังหรือสมัยอมรปุระและมัณฑเลย์ (Amarapura and Mandalay) ราวพุทธศตวรรษที่    

 24

 

สมัยปยู (Pyu) 

ปยูถือได้ว่าเป็นอาณาจักรแรกของประเทศพม่า  อาศัยอยู่ในประเทศพม่ามาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 10  อพยพลงมาจากเทือกเขาทิเบตทางตอนเหนือ  เชื้อสายอินโดทิเบเตียน  รับอารยธรรมอินเดียร่วมสมัยกับเมืองมอญทางตอนใต้คือสุธรรมวดี หรือสะเทิม (Thaton)  และวัฒนธรรมมอญ ทวารวดีในประเทศไทยด้วย   อาณาจักรปยูตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำอิระวดีและอาณาจักรมอญมีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิดศิลปะพม่าขึ้น  ส่วนแคว้นยะไข่ (Arakan) นั้น  เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของที่ตั้งจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนของประเทศพม่าและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย  สมัยนี้จึงได้รับอิทธิพลของศิลปะอมราวดี 

ความเก่าแก่ของวัฒนธรรมศาสนาพุทธศาสนาที่แพร่หลายจากอินเดียมาสู่ภาคกลางของพม่า  เริ่มมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 แล้ว   ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13  พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสองนิกายใหญ่เจริญควบคู่กัน  คือนิกายเถรวาทหรือหินยานซึ่งใช้ภาษาบาลี  และนิกายมูลสรรวาสติวาทซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต  นิกายมูลสรรวาสติวาทแยกมาจากนิกายเถรวาทโดยตรง มีหลักธรรมใกล้เคียงกัน  ได้แพร่หลายไปทั่วอินเดียภาคกลางและอินเดียภาคเหนือ ปัจจุบันวินัยของนิกายนี้นับถือโดยพระภิกษุในทิเบต แต่ในขณะเดียวกันก็พบหลักฐานเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ด้วย  ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนาแรกรับก่อนพุทธศาสนา 

อาณาจักรปยูดินแดนเก่าแก่ซึ่งจดหมายเหตุจีนเรียกว่าเมือง ศรีเกษตร (Srikshetra) แปลว่า  ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์  ปัจจุบันคือเมืองแปร  เมืองศรีเกษตรเป็นราชธานีแห่งแรก  มีหลักฐานว่ามีกษัตริย์ราชวงศ์วิกรม (Vikarama) เป็นผู้ปกครอง   เมืองเบคทาโน่ (Beikthano) เป็นราชธานีแห่งที่สองเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12  จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 จึงได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่ฮาลิน (Ha-lin)  ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ (เหนือเมืองมัณฑะเลย์)  จนถึงพุทธศตวรรษที่ 14  จึงเสื่อมลงเนื่องมาจากการรุกรานของอาณาจักรน่านเจ้าที่แผ่อิทธิพลลงมาจากภาคเหนือแถวมณฑลยูนนานได้กวาดต้อนชาวปยู 3,000  ครอบครัวจากเมืองฮาลินไปอยู่อาศัยบริเวณที่ตั้งของเมืองคุนหมิงปัจจุบัน

สมัยมอญ (Mon)

มอญโบราณ  เป็นชนชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่พบหลักฐานว่าอาศัยอยู่ในแถบอ่าวเมาะตะมะ  เช่นที่เมืองสะเทิม  เมืองทวาย  เมืองมะริด  และเมืองใกล้เคียง  ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-15  บริเวณเมืองท่าชายฝั่งเหล่านี้ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีของกลุ่มชนชาติมอญโบราณกระจายอยู่ประปราย  ส่วนอาณาจักรมอญตั้งอยู่ทางภาคใต้ใกล้กับปากแม่น้ำอิระวดีของประเทศพม่านั้น  ปรากฏว่าต่อมาได้ย้ายราชธานีไปอยู่ทางทิศตะวันตก  เมืองพะโค(Pegu)  หรือหงสาวดี  ได้สร้างราชธานีขึ้นในพ.ศ. 1368 (กลางพุทธศตวรรษที่ 14)  ในชั้นต้นพวกมอญได้นับถือศาสนาพราหมณ์และต่อมาได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา

อาณาจักรมอญ (Mon) หรือ รามัญเทศ (Ramannadesa)  ซึ่งมีราชธานีชื่อ สุธรรมวดี (Sudhammavati)  และต่อมาคือเมืองสะเทิม  หรือถะทน (Thaton)  มีความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียทางใต้ ส่งอิทธิพลพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทได้เข้ามาแพร่หลายตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10  เดิมเป็นรัฐอิสระแต่ถูกพระเจ้าอนิรุทธ (พ.ศ. 1587-1626) มหาราชกษัตริย์พม่าแห่งเมืองพุกามปราบปรามลงได้ อาณาจักรมอญต้องตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรพุกามเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  ซึ่งต่อมาได้กลับเป็นเอกราชภายหลังที่อาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจลง  ซึ่งมีเมืองเมาะตะมะ (Martaban) และเมืองพะโค(Pegu)  ได้ซ่อมแซมดัดแปลงโบราณสถานส่วนใหญ่  จนเป็นการยากที่จะทราบถึงสภาพดั้งเดิมของโบราณสถานเหล่านั้นได้  ศิลปกรรมได้รับอิทธิพลอันเดียวกันซึ่งสืบเนื่องมาจากเมืองศรีเกษตร  และหลักฐานแสดงถึงประติมากรรมที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู

สมัยนี้มีหลักฐานว่าเริ่มรับอารยธรรมอินเดียเข้ามาแล้ว พบหลักฐานทางโบราณคดี  เช่น พระพุทธรูปศิลปะแบบอมราวดี  ใกล้เมืองสะเทิม  ราวพุทธศตวรรษที่ 9  เชื่อมโยงกับอารยธรรมโบราณ  แถบตอนใต้ของพม่าด้านที่ติดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย  ศิลปะมอญสามารถแบ่งเป็นยุคของศิลปะมอญโบราณและยุคศิลปะอาระคันโบราณ (ยะไข่)  ในพุทธศตวรรษที่ 7-15  อยู่ทางภาคตะวันตกของพม่าสมัยโบราณด้านที่ติดกับชายทะเลอ่าวเบงกอล  หลักฐานทางศิลปกรรมมีทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์  ศาสนาพุทธ (ในสมัยหลังอิทธิพลศาสนาอิสลามเข้ามาปะปนด้วย)

 เมื่อพุทธศตวรรษที่ 7-11  พบหลักฐานว่าชาวมอญโบราณอาศัยอยู่ในแถบภาคกลางของประเทศไทย  คือ บริเวณเดียวกับพื้นที่ตั้งเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม (ปัจจุบัน) เมืองราชบุรี และเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบหลักฐานเด่นคือโบราณสถานเจดีย์จุลประโทน ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนานิกายสรรวาสติวาส (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม)

สมัยพุกาม (Pagan)

สมัยพุกามมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-18    เมืองพุกามตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ        อิระวดีในเขตแห้งแล้งทางภาคกลาง  เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองและศิลปวัฒนธรรมของชาวพม่าสร้างขึ้นและสถาปนาราชธานีเมื่อปีพ.ศ. 1392  มีอายุอยู่ราว 250 ปี  (นับเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีจารึกไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16  เป็นต้นมา)  เมื่อพระเจ้าอนิรุทธ์ (Anuruddha) มหากษัตริย์ของประเทศพม่าทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. 1587-1620  ถือได้ว่าเป็นยุคทองหรือยุคคลาสสิกที่สุดของชาวพม่า และเป็นสมัยจักรวรรดิที่ 1 ของชนชาติพม่าด้วย    มีการขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล  ครอบคลุมถึงภาคใต้แถบอ่าวเมาะตะมะ  ภาคตะวันออกถึงแคว้นอาระคัน (ยะไข่) ภาคเหนือถึงตอนต้นแม่น้ำอิรวดีและชินด์วิน  รวมทั้งที่ราบสูงไทใหญ่ (รัฐฉาน) อีกด้วย

สำหรับทางด้านศิลปกรรมนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสองสมัย  คือช่วงแรกรับอิทธิพลจากศิลปะมอญ  และช่วงหลังเป็นแบบเอกลักษณ์ของพม่าเอง  ซึ่งจัดเป็นศิลปะของชนชาติพม่าโดยแท้   หลังจาก อาณาจักรศรีเกษตรได้เสื่อมลงเมื่อปีพ.ศ. 1300   อาณาจักรพุกามได้เจริญขึ้นมาแทนที่  ในช่วงแรกศิลปวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลจากศิลปะมอญและศิลปะปยูซึ่งปรากฏในงานศิลปกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรม เมืองพุกามจึงเต็มไปด้วยโบราณสถาน  ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์หรือวิหารรูปทรงต่างๆมากมาย   เนื่องจากศิลปะพุกามในสมัยพระเจ้าอนิรุทธมหาราชและพระเจ้าจันชิตถา (Kyanzittha) ยังเป็นศิลปะแบบมอญ   แต่เมื่อมาตีเมืองสะเทิมจึงรับพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทไปจากมอญด้วย   ศาสนสถานจึงมักก่อด้วยอิฐเป็นชั้นเดียวและใช้หินเป็นเครื่องตกแต่งบ้าง  แสดงถึงอิทธิพลผสมระหว่างศิลปะพื้นเมืองกับศิลปะของอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นถึงกลางของสมัยพุกาม

ศิลปะพม่าแบบเมืองพุกามหรือพม่าอย่างแท้จริงพัฒนาขึ้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16  (พ.ศ. 1656 -1830) เป็นสมัยซึ่งเกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของอิทธิพลวัฒนธรรมมอญกำลังเสื่อมลง   ศิลปะพุกามมีวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนและต่อยอดไปจากเดิมโดยมีเอกลักษณ์เป็นตัวเองมากขึ้น  เริ่มตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าอลองสิทธู   สร้างวิหารขนาดใหญ่ไว้มากมาย  โดยภายในวิหารมีห้องและระเบียงทางเดินภายในซึ่งทำโปร่งกว่าสมัยก่อน 

ศิลปะพม่าสมัยพุกามนับว่ามีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก   อิทธิพลของมอญเริ่มจางหายไป  และตัวหนังสือพม่าได้เริ่มเข้ามาแทนที่ภาษามอญที่หมดความนิยมลง แต่เมื่อกองทัพมองโกลแห่งประเทศจีนตีเมืองพุกามได้ในปีพ.ศ. 1830 ซึ่งตรงกับ การปกครองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยสุโขทัยของไทย  หลังจากนั้นศิลปะพม่าและอาณาจักรเมืองพุกามจึงเสื่อมลง

สมัยอังวะ (Ava)

เมืองอังวะ (Ava) หรือรัตนปุระ (Ratanapura)  หมายถึงเมืองแก้ว   สถาปนาขึ้นในปีพ.ศ. 1907  และเป็นราชธานีในปี  พ.ศ. 2179  (พุทธศตวรรษที่ 22-24)  ภายหลังที่พวกมองโกลได้ยึดเมืองพุกามแล้วนั้น   อาณาจักรพุกามแตกพ่ายล่มสลายไป  พม่าได้แตกออกเป็นหลายกลุ่ม  เช่น กลุ่มตองอู  กลุ่มแปร  กลุ่มอังวะ   ทางภาคใต้มีกลุ่มชาวมอญตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองเมาะตะมะ   ชนชาติพม่าไปรวมกันอยู่ที่เมืองตองอู  ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหงสาวดี (สมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง)  พวกยะไข่ได้แยกตัวเป็นอิสระตั้งราชธานีอยู่ที่เวสาลีทางภาคตะวันตกของพม่า   ชาวไทใหญ่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์อยู่ที่ภาคเหนือแถวเมืองสะกายอีกด้วย

ในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 2094 – 2124)  พระเจ้าบุเรงนองทำสงครามขยายอาณาเขตได้รับชัยชนะหลายครั้ง แผ่อาณาเขตพม่ายิ่งกว้างใหญ่ไพศาล ได้ดินแดนโดยรอบเป็นเมืองขึ้น  รวมถึงไทใหญ่  เมืองเชียงใหม่ และกรุงศรีอยุธยา  เมื่อ พ.ศ. 2112 นับเป็นยุคจักรวรรดิที่ 2 ของชาวพม่า 

เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง  พระโอรสคือพระเจ้านันทบุเรง ได้ทำสงครามกับไทยแต่พ่ายแพ้ถึง 4 ครั้งติดกัน (ครั้งสำคัญคือสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา) ต่อมาปลายรัชกาลเกิดความวุ่นวาย  รักษาเมืองหงสาวดีไว้ไม่ได้  จึงเสด็จกลับตองอูและถูกราชบุตรพระเจ้าตองอูวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์  หลังจากนี้พม่าได้แตกออกเป็นแคว้นใหญ่น้อยอีกครั้งหนึ่ง  เป็นอันสิ้นสุดยุคจักรวรรดิที่ 2

หลังสมัยเสื่อมของเมืองพุกามจนถึงการสถาปนาเมืองอังวะหรือรัตนปุระ ถึงแม้จะมีการแยกออกเป็นหลายอาณาจักรตามแคว้นต่างๆ   ด้วยสภาพทางการเมืองไม่มั่นคง เกิดการแตกแยกภายในและการรุกรานสงครามจากเพื่อนบ้านโดยรอบ  ทำให้ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมเสื่อมลง   จนกระทั่งถึงตอนปลายของอาณาจักรอังวะ (สถาปนา พ.ศ. 2179)  จึงเริ่มมีการฟื้นฟูศิลปกรรมต่อจากพุกาม   พระพุทธรูปก็แสดงถึงศิลปะอินเดียแบบปาละต่อมา   โบราณสถานส่วนใหญ่ก่อด้วยอิฐและไม้  สถาปัตยกรรมเองก็แสดงให้เห็นถึงความบันดาลใจมาจากศิลปกรรมที่ก่อสร้างสร้างเลียนแบบเครื่องไม้ 

สมัยหลังหรือสมัยอมรปุระและมัณฑเลย์ (Amarapura and Mandalay)

ศิลปะสมัยหลัง หรือศิลปะของเมืองอมรปุระและเมืองมัณฑเลย์  ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 จนถึงปัจจุบัน  ราชธานีซึ่งสืบต่อมาหรืออยู่ร่วมสมัยระหว่างหลังเมืองพุกามจนถึงสมัยเมืองอังวะ  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอิรวดี  พระเจ้าโบดอปยะ (Bodawpaya)  ได้ย้ายราชธานีจากเมืองอังวะไปที่เมืองอมรปุระในต้นพุทธศตวรรษที่ 24  ปัจจุบันได้รวมเป็นเมืองเดียวกันกับมัณฑะเลย์ (สร้างโดยพระเจ้ามินดงเมื่อพ.ศ. 2400)   ซึ่งหลังจากหมดสมัยอาณาจักรพุกามแล้ว   ศิลปกรรมพม่าดูอ่อนด้อยลงไปกว่าสมัยพุกามมาก   สมัยนี้เองที่เริ่มมีการฟื้นฟูศิลปกรรมแบบพม่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยพระเจ้ามินดง (พ.ศ.2396-2421)  ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2396  ได้ทำไมตรีกับอังกฤษ  พม่าจึงถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทางภาคใต้  อังกฤษเป็นผู้ปกครอง  เมืองหลวงตั้งอยู่ที่ย่างกุ้ง  และทางภาคเหนือนั้นพม่าเป็นผู้ปกครองเอง  เมืองหลวงอยู่ที่อมรปุระ  ต่อมาพ.ศ. 2400 ได้ย้ายเมืองหลวงมาสร้างใหม่ที่เมืองมัณฑะเลย์  ให้ชื่อว่า กรุงรัตนปุระ ตามชื่อเดิมของเมืองอังวะ   และได้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา 

ต่อมาปีพ.ศ. 2428   ยุคของพระเจ้าสีป่อ  อังกฤษได้ส่งกองทัพเข้ายึดพม่าภาคเหนือที่เมืองมัณฑะเลย์  จับตัวพระเจ้าสีป่อไว้ที่ภาคตะวันตกของอินเดียจนกระทั่งสิ้นพระชนม์   และในปีพ.ศ. 2468  เป็นอันสิ้นสุดสถาบันกษัตริย์ของพม่า

ทางด้านศิลปะสมัยหลังได้หันไปเลียนแบบศิลปะแบบประเพณีของพุกาม  การสลักไม้ของพม่าในสมัยมัณฑเลย์นี้ยังคงความงดงาม ซึ่งศาสนาสถานในสมัยนี้นิยมก่อสร้างด้วยเครื่องไม้ มีลวดลายเครื่องประดับอย่างอลังการและประณีตวิจิตรเป็นอย่างยิ่ง  สถาปัตยกรรมอาคารเรือนไม้นิยมสร้างแบบเรือนปราสาทชั้นซ้อนแบบพม่า  ทางพม่าออกเสียงว่า ปะยาทาต (Pyathat)  

พระพุทธรูปในสมัยหลังพุกามเชื่อว่ามีการก่อสร้างมากมาย   การสร้างพระพุทธรูปจากหินสลัก  ไม้ และโลหะ  สำหรับประติมากรรมได้แกะสลัก (ทั้งที่เป็นประติมกรรมลอยตัวและสภาพสลักนูน)  มักจะปิดทองหรือทาสีหลากสี  ซึ่งเป็นการแสดงอย่างดียิ่งถึงประเพณีของศิลปะพม่าสมัยใหม่นี้    สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนัง  พบว่าเริ่มนำสีวิทยาศาสตร์ (สีสังเคราะห์) มาใช้   เน้นเทคนิคการใช้สีที่สดใส  เช่น สีฟ้า สีเขียว  เชื่อว่าได้รับแนวคิดและวัตถุดิบจากจีน 

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ.2428-2491  เป็นระยะเวลาถึง 63 ปี   จนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491   ประเทศอังกฤษประกาศให้เอกราชคืนกับพม่าอย่างเป็นทางการ  มีนายพลอองซาน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพพม่า  และประธานาธิบดีคนแรกเป็นชนกลุ่มน้อยชื่อ “เจ้าฟ้าชเวเทียกสอพวา แห่งเมืองยองห้วย”   ปัจจุบันมีเมืองหลวงชื่อเมืองเนปีดอว์   ย้ายราชธานีจากเมืองย่างกุ้งเมื่อปีพ.ศ. 2548

อ้างอิง
ภภพพล  จันทร์วัฒนกุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะพม่า. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2553.
มรว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศิลปะจามและศิลปะพม่าโดยสังเขป. พิมพ์ครั้งที่1. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, 2530.
ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง. พิมพ์ครั้งที่2 . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2540 .
นวลจันทร์ คำปังสุ์. พม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2548 .
ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. เที่ยวดงเจดีย์ที่พม่าประเทศทางประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
ปัญญา  เทพสิงห์. ศิลปะเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
John Falcomner and other, Burmese Design & Architecture. Singapore : Periplus, 2000.
อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539

text writer : Preuksapak Chorsakul  (ภฤศภัค  ช่อสกุล)

DSC_0013

นิทรรศการกึ่งถาวร ชั้น 3

ประติมากรรมพระพุทธรูปในประเทศพม่า

พระพุทธศาสนาในประเทศพม่าได้รับอิทธิพลเผยแพร่มาจากอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแพร่ในพม่าอยู่หลายครั้งด้วยกัน   ทั้งฝ่ายหินยาน(เถรวาท)  นิกายมหายานและนิกายตันตระ  รวมทั้งพุทธศาสนานิกายหินยานแบบลังกาวงศ์ซึ่งนับถือสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

พระพุทธศาสนากับวิถีชีวิตชาวพม่านั้นผูกพันกันอย่างมาก ชนชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา  ศาสนากับวิถีชีวิตชาวพม่านั้นผูกพันกันอย่างเคร่งครัด แบบแผนต่างๆในงานศิลปะจึงปฏิบัติเข้มงวดตามประเพณี   ศิลปกรรมส่วนใหญ่จะแสดงออกโดดเด่นในทางด้านพุทธศาสนา  อาจมีเรื่องความเชื่อท้องถิ่น  หรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาผสมบ้างในระยะแรก

ถึงแม้ว่าศิลปะพม่าส่วนใหญ่ได้รับอิทธพลพุทธศาสนาฝ่ายหินยานหรือเถรวาท  ซึ่งในบางช่วงเวลากลับปรากฏมีแนวคิดและรูปแบบศิลปกรรมคติแบบมหายานเข้ามามีอิทธิพล  ความเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาก็ด้วยเช่นกัน อาทิ เรื่องราวของอดีตพระพุทธเจ้า โดยปรากฏในแนวคิดที่กล่าวว่ามีพระพุทธเจ้ามากมายทุกหนทุกแห่งดั่งเม็ดทรายในมหาสมุทร  จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธเจ้าหรืออดีตพระพุทธเจ้าหลายองค์  ประดับไว้ตามศาสนสถานต่างๆ  แนวคิดเรื่องอดีตพุทธเจ้ามีหลายทฤษฎี อาทิ ที่เชื่อว่าอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหมดมี  28 พระองค์  บางท้องถิ่นก็มีแนวคิดเรื่องมีอดีตพระพุทธเจ้า 24 พระองค์ โดยเริ่มนับตั้งแต่ พระพุทธทีปังกร หรือแนวคิดที่กล่าวว่าอดีตพระพุทธเจ้ามี 4 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระเจ้ากุสันโธ  พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ พระพุทธเจ้าโคตมะ  และอนาคตพระพุทธเจ้าศรีอริยเมตไตรย  รวมเป็น 5 พระองค์ เป็นต้น

ประติมากรรมเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นประหนึ่งแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า วัสดุที่ใช้มีหลากหลายชนิดทั้งหิน  ดินเผา  ปั้นรัก  สำริด  ปูน  และไม้   ต่างจากความนิยมของไทยที่นิยมเพียงงานปูนปั้น – ก่ออิฐพอกปูนทับซึ่งอาจมีการลงรักปิดทองหรือหล่อสำริดปิดทับเท่านั้น รวมทั้งงานประติมากรรมรูปแบบอื่น อาทิ  รูปมนุษย์  อมนุษย์  สัตว์ปกรณัมก็มักเกี่ยวพันกับตำนาน -พุทธชาดกเนื่องในพุทธศาสนาตามตำนานพงศาวดารของพม่าปรากฏอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการดำรงชีวิต  คติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ของชนชาติพม่าเป็นตัวแทนของเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของงานศิลปะและงานประณีตศิลป์

ในส่วนพระพุทธรูปศิลปะพม่าหรือพระพุทธรูปพม่า (Burmese Buddha image)  เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจิตรศิลป์ของพม่ามาช้านานเกือบ 1,500 ปีมาแล้ว  พระพุทธรูปพม่าระยะแรกได้รับอิทธิพลจากอินเดียและลังกา  การแสดงปางหรือครองจีวรได้รับอิทธิพลจากค่านิยมจากสมัยอินเดียโบราณเข้ามาจนกระทั่งคลี่คลายเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพม่าเองในสมัยพุกาม – อังวะ

นอกจากการสร้างประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายานแล้ว แล้วยังรับเอาอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์ต่างๆ  เรื่องอดีตพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันจะเห็นว่าบ้างปรากฏร่วมในศาสนสถานเดียวกับศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนานิกายหินยาน หรืออาจอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้คนมีความเชื่อร่วมสมัยกัน หรือความนิยมนับถือในแต่ละช่วงเวลาหนึ่งๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้งานศาสนสถานแห่งหนึ่งให้เป็นอีกลัทธิหนึ่งโดยใช้พื้นที่เดิม เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งพระพุทธรูปปางต่างๆออกได้เป็นสี่อิริยาบถ  คือ  พระพุทธรูปยืน  พระพุทธรูปนั่ง  พระพุทธรูปเดิน  (พระพุทธรูปปางลีลา)  และพระพุทธรูปนอน (ยกตัวอย่างเช่น แสดงปางไสยาสน์กับปางมหาปรินิพพาน) ส่วนใหญ่พระพุทธรูปนั่งพบอยู่ 2 ลักษณะ(อาสนะ)ด้วยกัน คือ ท่าวีราสนะ (นั่งขัดสมาธิราบ) กับท่าวัชราสนะ (นั่งขัดสมาธิเพชร)  นอกจากนี้พระหัตถ์ของพระพุทธรูปยังเป็นเครื่องแสดงปางต่างๆ  เรียกว่า “มุทรา” อาทิ ภูมิสปรศมุทรา คือ ปางอ้างแม่พระธรณีเป็นพยาน (ปางมารวิชัยหรือปางตรัสรู้) เป็นปางที่แพร่หลายมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย   สังเกตจากพระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงบนพระชงฆ์  นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงยังแผ่นดิน  ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา เป็นต้น

การจำแนกพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปของพม่าทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีผู้ศึกษาค้นคว้าเป็นส่วนน้อย   แต่ถึงกระนั้นก็สามารถแบ่งพระพุทธรูปพม่าออกเป็นศิลปะยุคต่างๆได้ โดยใช้พุทธลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แต่ละยุคสมัยและแหล่งกำเนิดเป็นเกณฑ์  พระพุทธรูปรุ่นแรกสุดคือ พระพุทธรูปแบบศิลปะปยู   ในช่วงไล่เลี่ยกันปรากฏพระพุทธรูปศิลปะปะกัน (พุกาม)  ถัดมาในยุคพระพุทธรูปปะไคน์  พระพุทธรูปมอญ  พระพุทธรูปฉาน (ไทใหญ่)  และในยุคหลังเป็นพระพุทธรูปแบบมัณฑเลย์ ซึ่งเราสามารถพบเห็นศิลปะยุคหลังนี้จำนวนมากในปัจจุบัน

พระพุทธรูปศิลปะปยู(Pyu) ชาวปยูเชื่อว่าเป็นชนชาติแรกในประเทศพม่ามาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 10   ตั้งชุมชนเป็นบ้านเมืองและอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครองเช่นที่เมืองโบราณศรีเกษตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองแปร  งานศิลปกรรมของชาวปยูพบส่วนใหญ่ที่เมืองนี้  แบ่งได้ 3 ประเภท คือ สถาปัตยกรรม  ประติมากรรมและเหรียญเงินและแผ่นโลหะดุนนูน โดยประติมากรรมจะพบวัสดุทำจากหินสลัก  ดินเผา  และสำริด   มีทั้งแบบงานนูนต่ำและนูนสูง  เช่น พระพิมพ์  รูปสัตว์  รูปบุคคลแสดงอิริยาบถต่างๆ  สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียทั้งศิลปะอมราวดีและศิลปะคุปตะ

นอกจากประติมากรรมแล้วยังพบเครื่องดินเผาที่น่าสนใจมากคือโกฐิซึ่งบรรจุอัฐิของผู้วายชนม์   และเหรียญศรีวัตสะ เหรียญทำจากโลหะประเภทเงิน  ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญมีที่มาจากอาคารของพระศรีหรือพระลักษมี และตัวอักษร “ศรีทวารวติศวรปุณยะ” ซึ่งแปลว่า “การบุณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี”  ถูกสร้างโดยกษัตริย์ท้องถิ่นสมัยโบราณ พบตามเมืองโบราณสมัยทวารวดีบริเวณภาคกลางของประเทศไทยและในเมืองโบราณร่วมสมัยอื่นๆในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐมอญ รัฐฟูนัน (กัมพูชาและเวียดนามโบราณ) ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทั้งในศาสนาพุทธและพราหมณ์ สันนิษฐานว่าเหรียญนี้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและควบคุมค่าเงินในสมัยโบราณ

ส่วนพระพุทธรูปสมัยปยู   ค้นพบมากที่เมืองศรีเกษตร ซึ่งสมัยนี้เป็นระยะแรกของการเริ่มต้นสร้างพระพุทธรูป  มีพระพุทธรูปหลากหลายรูปแบบ   โดยนิยมแกะสลักจากหินทรายที่นำมาใช้ทั้งเพื่อเคารพบูชาและประดับตามช่องเว้าของสถูปในงานสถาปัตยกรรม  ในช่วงแรกยังไม่สร้างแบบประติมากรรมลอยตัว  แต่นิยมแกะสลักแบบนูนสูงมากกว่า  โดยบางครั้งแกะสลักทั้งแผ่นหิน  บางครั้งก็แกะสลักเฉพาะองค์พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร  โดยปล่อยพื้นหลังราบเรียบหรือแกะลวดลายเบาบาง

พระพุทธรูปทรงจีวรบางดูแนบเนื้อ  คล้ายกับพระพุทธรูปที่พบในกัมพูชาและไทยแบบศิลปะทวารวดี สันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นแบบให้กับพระพุทธรูปแบบพุกาม บ้างพบพระโพธิสัตว์อันแสดงให้เห็นว่าคงสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบอินเดียภาคใต้  และยังพบประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์ที่เมืองเบคถาโน (Beikthano) ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองของพระวิษณุด้วย

พระพุทธรูปปะกันหรือพุกาม (Pagan)   ราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 (พ.ศ.1587-1830)  ศิลปะ     ปะกันหรือพุกามได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบศิลปะอินเดียโดยตรง   ซึ่งศิลปะพม่าเป็นศิลปะหนึ่งที่มีลักษณะของตนเองมากที่สุดในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   แต่มีผู้ศึกษาน้อยมากคงมีแต่เพียงสมัยพุกามซึ่งเป็นสมัยที่รุ่งเรืองมากที่สุด  ศิลปะการช่างสมัยเมืองพุกามสร้างสรรค์ได้เด่นชัดสะท้อนประสิทธิภาพที่ผ่านประสบการณ์อันสูงยิ่ง  โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม   รองมาได้แก่จิตรกรรมและประติมากรรม   มักเป็นส่วนประดับตกแต่งภายในหรือนอกอาคาร    ประติมากรรมพระพุทธรูปส่วนใหญ่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา เพื่อประดิษฐานเป็นรูปเคารพภายในคูหามากกว่าเป็นเพียงสิ่งประดับตกแต่ง ปรากฏทั้งศิลาแกะ  หินทราย หินปูนขาว สำริด อิฐ ประดับด้วยปูนปั้นและดินเผา ส่วนไม้แกะสลักนั้นค่อนข้างหายากหรืออาจเสื่อมสลายไปเสีย

ในชั้นต้นรับอิทธิพลจากประเทศอินเดียภาคใต้และประเทศลังกา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงปางต่างๆและการครองจีวร   โดยพระพุทธรูปพม่าสมัยแรกที่เมืองพุกามแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละ-เสนะชัดเจนมากกว่าศิลปะแบบคุปตะ   ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 – 14  ศิลปะปาละจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียก็ได้เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ประเพณีแบบแรก   อิทธิพลของศิลปะปาละมีอยู่มากในศิลปะสมัยเมืองพุกาม  และช่างพม่าก็ได้ประดิษฐ์ประติมานวิทยาขึ้นหลายแบบ มีลักษณะที่ไม่สามารถพบได้ในสกุลช่างอื่นๆในสมัยเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น  สมัยพุกามนิยมทำพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นอย่างมากซึ่งรับแรงบันดาลใจจากศิลปะปาละ-เสนะ เป็นต้น  และเมื่อภายหลังเมืองถูกกองทัพจีนตีแตกไปแล้ว อาณาจักรพุกามเสื่อมลง  ศิลปะพม่าก็เริ่มมีลักษณะเสื่อมลงและพระพุทธรูปทรงเครื่องดูเหมือนว่าได้รับอิทธิพลสกุลช่างท้องถิ่นเข้ามาแทนที่ ประดับเครื่องศิราภรณ์มากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้น บางครั้งดัดแปลงจนห่างไกลออกไปจากศิลปะปาละมากยิ่งขึ้นทุกที หลังจากนั้นมีอิทธิพลศิลปะชาติอื่นๆเข้ามาเจือปน อาทิเช่น  อิทธิพลจีน  สังเกตได้จากจีวรพระพุทธรูปบางองค์มีลักษณะคล้ายริ้วผ้าแบบจีน

พระพุทธรูปพุกามมีลักษณะเด่น  คือ  พระพุทธรูปจะมีอุษณีษะ (กะโหลกศีรษะหรือขมวดมวยพระเกศาสองชั้น) ตามแบบอย่างพระพุทธรูปทั่วไป  เหนืออุษณีษะทำเป็นรูปบัวตูมหรือหยาดน้ำค้าง  ปมพระเกศามีขนาดใหญ่  เส้นพระเกศาม้วนเป็นวงก้นหอย ไม่มีไรพระศก  พระพักตร์ใหญ่  ส่วนบนด้านพระนลาฏกว้างออกเป็นเหลี่ยม ส่วนล่างด้านพระชานุแหลม  พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกแหลมงุ้ม  ปลายพระโอษฐ์บนเป็นรูปกระจับพระโอษฐ์ล่างห้อยเหมือนท้องกระจับ พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา พระอังสากว้าง  พระศอสั้นตันเป็นปล้อง(สามปล้อง)  มีเส้นแบ่งปล้องชัดเจน  พระเศียรโน้มออกมาข้างหน้าเล็กน้อย

การครองจีวรห่มคลุม  บางรูปทำจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิห้อยพาดผ่านพระอังสาและพระอุระลงมาเกือบถึงพระนาภี  ที่ปลายทำพับซ้อนขดโค้งเหมือนเขี้ยวตะขาบ พระวรกายล่ำสัน  บั้นพระองค์(เอว)คอดกิ่ว  มักปรากฏอิริยาบถทั้งประทับยืนและประทับนั่ง พระพุทธรูปประทับนั่งช่างจะทำขัดสมาธิเพชรเสมอ   ที่นิยมสร้างมากที่สุดคือปางมารวิชัย โดยรวมแล้วรูปแบบพุทธศิลป์จะคล้ายคลึงกัน  และมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสัดส่วนชัดเจน  แต่ส่วนของรายละเอียดนั้นมักขึ้นอยู่กับผู้สร้างและวัตถุประสงค์ในการสร้าง    หากเป็นฝีมือช่างหลวงแล้วมักมีความวิจิตรบรรจงมากกว่าช่างฝีมือชาวบ้านมาก  ล้วนประประดับประดาไปด้วยวัสดุที่มีค่ามีราคา

ในพุกามเมืองแห่งพุทธศาสนามีโบราณสถานถึง 4,000 แห่ง  มีเจดีย์มากมาย  ส่วนประติมากรรมพระพุทธรูปก็มีเอกลักษณะโดดเด่น ด้านจิตรกรรมภาพพระพุทธองค์แสดงภาพชาดกต่างๆและพุทธประวัติตามผนังเจดีย์วิหาร  ซึ่งทั้งหมดต่างมีความหมายเดียวกันคือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ทั้งพระพุทธเจ้าศากยโคดม พระอดีตพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วนที่เสด็จมาตรัสรู้บนโลกนี้ และพระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนมากมายดั่งเม็ดทรายในมหาสมุทร ประติมากรรมรูปเทพเจ้าค่อนข้างมีน้อยและยิ่งกว่านั้นยังแสดงถึงความสัมพันธ์กับคติของจักรวาล (ไตรภูมิ) ในพุทธศาสนา และคติของเทวดาหรือภูตประจำท้องถิ่น (นัต) รวมทั้งศาสนาฮินดู   ประติมากรรมในสมัยพุกามนั้นแสดงถึงรูปภาพทางประติมานวิทยาที่ขนาดใหญ่ขึ้น  และวิวัฒนาการไปสู่สุนทรียภาพอันแท้จริงของศิลปะพม่า  และให้อิทธิพลต่อศิลปะอื่นในบริเวณใกล้เคียงและสมัยหลังต่อมา

และพระพุทธรูปในยุคศิลปะต่อมาคือ  พระพุทธรูปปะไคน์ (Pakai)  ในพุทธศตวรรษที่ 13-16พัฒนาขึ้นในบริเวณแถบเทือกเขาระไคน์และเมืองเมี่ยวอูในประเทศพม่า ถึงแม้ว่าศิลปะสมัยนี้ไม่โดดเด่นเท่าสมัยพุกามแต่ก็มีความงดงามไม่แพ้กัน พระพุทธลักษณะที่พบมักมีพระวรกายกำยำ พระพักตร์สี่เหลี่ยม  พระขนงต่อกันเป็นแบบปีกกา มักสวมมงกุฎแบบกษัตริย์

พระพุทธรูปศิลปะปะไคน์ที่มีชื่อเสียงมากคือ  พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha)  หรือพระเนื้อนิ่ม  เนื่องจากองค์พระถูกปิดทองหนาทับไปมาหลายชั้นเป็นเวลานานจนเนื้อมีลักษณะนุ่มยุ่ยไปทั้งองค์  และไม่สามารถมองเห็นลวดลายของศิลปะบนองค์พระได้ นอกจากนั้นยังพบประติมากรรมพระพุทธรูปแล้ว  ยังพบศิลปะประไคน์ในเทวรูปที่ทรงเครื่องดั่งองค์กษัตริย์ ซึ่งเป็นศิลปะพม่าอายุราว 400 ปี  สร้างจากวัสดุจำพวกไม้พอกครั่งทารัก อาจมีการปิดทองแต่ไม่ประดับกระจก เทวรูปเหล่านี้สูญหายไปมากในยุคที่พม่าถูกปกครองโดยประเทศอังกฤษ  

พระมหามัยมุนี มีความน่าสนใจอย่างมาก  เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า  พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่ง ถูกย้ายจากประไคน์เมื่อปีพุทธศักราชที่ 1784  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดมหามุนีในเมืองมัณฑเลย์ พุทธศิลป์มีลักษณะทรงเครื่อง (เพิ่มเครื่องทรงในยุคหลัง)  ประดับทับทรวง กรองศอ สวมมงกุฎ มีกรรเจียกจรข้างพระกรรณคล้ายลายกนก แบบเดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลายของไทย  ซึ่งนักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่าลายกรรเจียกจรอาจเลียนแบบจากศิลปะไทย อีกทั้งยังปรากฏร่องรอยของอิทธิพลในศิลปวัตถุอื่นอีกหลายอย่างในพม่า  คาดว่าได้รับอิทธิพลเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา พม่านิยมเรียกลวดลายหรือแบบอย่างศิลปะจากไทยนี้ว่า “โยเดีย” (Yodia)

การสร้างพระมหามัยมุนีมีกรรมวิธีโดยพระพุทธรูปแบ่งออกเป็นสามส่วน เมื่อหล่อแล้วจึงนำแต่ละส่วนนั้นมาประสานกัน  ครั้งหนึ่งพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ทำให้ทองคำเปลวซึ่งติดบนผิวหลอมละลาย ลามถึงเนื้อสำริดจนดูขรุขระเป็นริ้วรอย ปัจจุบันมีการซ่อมแซมปิดทองคำเปลวใหม่ค่อนข้างหนา จะเว้นเฉพาะพระพักตร์เผยให้เห็นสำริดมันวาวจากการขัดล้างเป็นประจำทุกวันของพุทธศาสนิกชน  สำหรับทองคำเปลวซึ่งใช้ติดองค์พระพุทธรูปนั้นก็เริ่มจากตีก้อนทองคำให้แบนเหมือนกระดาษ จากนั้นตัดเป็นแผ่นแล้ววางไว้ระหว่างแผ่นหนังและแผ่นทองแดง  แล้วทุบกลับด้านสลับไปมาจนบางมาก ใช้คีมคีบขึ้นวางระหว่างแผ่นกระดาษสาชุมน้ำมันเพื่อใช้งานต่อไป การใช้ทองคำเปลวบางครั้งใช้น้ำรักลงพื้นก่อน ลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นกระบวนการของช่างซึ่งใช้กับพระพุทธรูปไม้หรือสำริด

พระพุทธรูปมอญหรือรามัญ (Mon)  ศิลปะมอญอาณาจักรมอญถือได้ว่าเป็นอาณาจักรโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานมานาน   ศิลปะยุคนี้จะรับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียเข้ามาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 9 เนื่องจากติดกับทางทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย   โดยศิลปะมอญสามารถแบ่งเป็นยุคของศิลปะมอญโบราณ  และยุคศิลปะอาระคันโบราณ (ยะไข่)  พวกชาวมอญได้นับถือศาสนาพราหมณ์และต่อมาได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา  จึงพบหลักฐานทางศิลปกรรมมีทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ด้วย

พุทธลักษณะของพระพุทธรูปยุคนี้   มีลักษณะรูปทรงโปร่งเพรียว โดยปกติพระพักตร์จะอิ่ม  รูปทรงคล้ายหอมหัวใหญ่   พระโอษฐ์หนา  พระเนตรหลุบลงเบื้องล่าง  และพระกรรณยาว   ลักษณะงานจะเรียบง่ายดูมีความเป็นพื้นบ้านกว่ายุคอื่น

พระพุทธรูปฉาน (Shan) ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 พระพุทธรูปที่อยู่ในยุคศิลปะของชุมชนชาวไทใหญ่  ตั้งอยู่ในรัฐฉานทางตอนล่าง รัฐฉานเป็นดินแดนแห่งพระพุทธรูป  มีทะเลสาบอินเลย์เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของรัฐฉาน ซึ่งพบพระพุทธรูปมากมายในบริเวณนี้

พุทธลักษณะคล้ายศิลปะมอญและพุกามคือ พระพักตร์ค่อนไปทางสามเหลี่ยม พระหนุแหลม  พระนลาฎกว้าง พระเนตรหลุบลงต่ำ พระกรรณยาว พระนาสิกโด่ง พระศอสั้น  เนื่องจากยุคสมัยของฉานอยู่ที่ 200 – 300 ปี อายุไม่มากนัก จึงมักพบเห็นพระพุทธรูปศิลปะฉานได้ทั่วไป และอีกทั้งยังคงความงดงามดูน่าเกรงขาม ปรากฏทั้งรูปแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องและไม่ทรงเครื่อง ปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้สะสมพระพุทธรูปมากกว่าศิลปะยุคอื่นๆ

พระพุทธรูปศิลปะฉาน (Shan)  ในบางตำราเราอาจรู้จักในนามศิลปะ‘ไทใหญ่’ (Tai Yai)  ซึ่งศิลปะไทใหญ่นั้นมียุคศิลปะที่กว้างและยาวนาน ปะปนควบคู่ไปกับศิลปะเมืองหลวงในยุคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะอังวะ อมราปุระ มัณฑเลย์ และยุคหลังมัณฑเลย์  โดยแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกคือ ศิลปะยุคไทใหญ่ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 19)  อังวะยุคแรก (พุทธศตวรรษที่ 19-20) ไทใหญ่ตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 21-24) มัณฑเลย์และยุคหลังมัณฑเลย์ไทใหญ่ (พุทธศตวรรษที่ 24-25)

ในช่วงศิลปะไทใหญ่ของยุคหลังมัณฑเลย์ (พ.ศ. 2428 – 2488)  ศิลปะไทใหญ่ถูกเรียกว่า “ศิลปะฉาน”  โดยนักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวตะวันตก  หลังจากอาณาจักรไทใหญ่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐฉานโดยรัฐบาลอังกฤษ  ศิลปะไทใหญ่อาจเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศพม่า  แต่อย่างไรก็ตามชื่อศิลปะฉานนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยทั่วไปในอารยธรรมโลก

พระพุทธรูปแบบมัณฑเลย์ (Mandalay)  ราวพุทธศตวรรษที่ 23 – 24 ยุคสมัยต่อจากศิลปะพุกามและศิลปะมอญจนพัฒนารูปแบบเป็นส่วนตัว ในการปกครองของราชวงศ์สุดท้ายของพม่าคือ ราชวงศ์อลองพญา (Alaungpaya Dynasty) หรือราชวงศ์คองบอง (Konbaung Dynasty)  มีเมืองหลวงหลายเมืองด้วยกันทั้งชเวโบ อังวะ อมระปุระ และมัณฑเลย์อาจพบเห็นบางตำราเรียกช่วงศิลปะนี้ว่า ศิลปะคองบอง  ซึ่งศิลปวัฒนธรรมในแต่ละราชธานีของราชวงศ์อลองพญาหรือคองบองนั้นมีความคล้ายคลึงกัน   แต่อย่างไรก็ตามยังมีความพิเศษในรสนิยมแต่ละยุคสมัยเช่นกัน

ศิลปะมัณฑเลย์ถือได้ว่าเป็นศิลปะที่มีความร่วมสมัย เมื่อภายหลังจากศิลปะพม่าแท้ๆอย่างศิลปะพุกามสิ้นสุดลง  ศิลปะพม่าก็มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมและการเมืองการปกครอง  ได้รับอิทธิพลทั้งในเอเชียและตะวันตกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบลักษณะ เทคนิควิธีการ  หรือวัสดุที่ใช้   อีกทั้งยังเป็นศิลปะที่พบเห็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่พบเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร  พระขนงโก่งเล็กน้อย  พระนาสิกบาน  และนิ้วพระหัตถ์เสมอกัน

พระพุทธรูปในสมัยหลังพุกามเชื่อว่ามีการก่อสร้างมากมาย แต่ความแตกต่างในรายละเอียดต่างจากสมัยพุกามคือ ลักษณะพระพักตร์จะเรียวเป็นรูปไข่ เด่นชัดที่สุดคือ ช่างนิยมทำกรอบหน้าครอบระหว่างพระนลาฏและไรพระศก  ทำให้พระพุทธรูปในสมัยนี้มีกรอบหน้าทุกพระองค์ และช่างสร้างพระพุทธรูปครองจีวรแบบห่มเฉียงตามแบบจีนเป็นส่วนใหญ่ ผ้าจีวรไม่แสดงความเบาบางอย่างสมัยพุกาม มีเนื้อจีวรที่พับซ้อนหลายชั้นเป็นริ้วยาว ริ้วรอยจีวรพลิ้วอย่างสวยงาม ชายจีวรไม่ขดคดโค้งแต่หยักเป็นรอยพับซ้อนกันมากกว่าพระพุทธรูปสมัยหลังพุกาม มีจีวรพับซ้อนกันเหมือนผ้าพับจริง

ศิลปะมัณฑเลย์ช่วงอายุในสมัยหลังสุดในช่วงสมัยประวัติศาสตร์พม่า แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความงดงาม อ่อนช้อย อ่อนหวาน นุ่มนวลประดิดประดอย ไม่แพ้ความงามของศิลปะยุคสมัยอื่น ในส่วนของพระพุทธรูปก็เช่นกัน พระพุทธรูปแบบมัณฑเลย์มักหล่อด้วยสำริด หรือนิยมแกะสลักด้วยไม้แล้วปิดทองตาม สำหรับงานไม้แกะสลักที่มัณฑเลย์นี้จัดว่าเป็นฝีมือชั้นเยี่ยม มีชื่อเสียงอย่างมาก  โดยเฉพาะลวดลายพันธุ์พฤกษามีความอ่อนพลิ้ว  ไม่ว่าก้าน ดอก  หรือใบ ตวัดกันไปมาอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ในระยะหลังมักทำด้วยรักปั้นและประดับกระจก  หรือหินอ่อนสีขาวแกะสลัก (Alabaster)  แล้วลงรักปิดทองคำเปลวหรือระบายสีบนพื้นผิว  พระพุทธรูปหินอ่อนไม่ปรากฏมากนักในที่อื่นๆ  จึงเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของพระพุทธรูปแบบมัณฑเลย์   มีทั้งงานฝีมือของช่างหลวงและงานชาวบ้านแบบพื้นเมือง     

นอกจากสมัยพุกามอันรุ่งเรืองแล้ว  พระพุทธรูปหรือศิลปกรรมแขนงต่างๆของพม่ามีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันให้เห็นให้ศึกษาน้อย เกิดเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ยกตัวอย่างเช่น พม่าเกิดศึกสงครามสู้รบกันตลอดเวลา ทำให้ช่างฝีมือไม่มีเวลาคิดเรื่องสร้างสรรค์งานศิลปกรรม  หรือถูกกวาดต้อนไปยังรัฐอื่น และถูกทำลายเสียส่วนใหญ่ในระหว่างสงคราม อีกทั้งการย้ายราชธานีบ่อยครั้งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในระยะเวลาประมาณ 700 ปี ประเทศพม่าได้มีการย้ายราชธานีไปแล้วกว่า 12 ครั้ง  ซึ่งเมืองหลวงปัจจุบันอยู่ที่เมืองเนปีดอว์ (พ.ศ. 2548 – ปัจจุบัน)  ทำให้ศิลปะขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา  

อีกทั้งเหตุปัจจัยทางด้านงานบูรณะวัดของชาวพม่า เมื่อโบราณสถานหรือโบราณวัตถุชำรุดเสียหายก็จะทำการบูรณะ ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน ชาวพม่าเป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานิยมบริจาคปัจจัยเพื่อบำรุงและซ่อมแซมศาสนา จึงลำบากในการตรวจสอบงานศิลปะว่ากระทำในสมัยใด ประกอบกับงานด้านโบราณคดีทางด้านการค้นหาหลักฐานที่ใช้ศึกษาทางด้านศิลปะในอดีตยังทำได้ไม่เต็มที่ ผิดกับยุคสมัยพุกามที่มีนักวิชาการจากอังกฤษเข้ามาศึกษาไว้อย่างเป็นระบบคือ ศาสตราจารย์กอร์ดอน เอช. ลูซ (Gordon  H.Luce) และกลุ่มนักวิชาการจากฝรั่งเศสที่เข้าไปเก็บข้อมูลอย่างละเอียดไว้คือ ปิแอร์  ปิชารด์ (Pierre Pichard)

พุทธศาสนาให้อิทธิพลแก่ศิลปะพม่าส่วนใหญ่  วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวพม่าผูกพันกับศาสนามาโดยตลอด  อีกทั้งชาวพม่ายังนับถือพุทธศาสนาและให้ความสำคัญอย่างเคร่งครัด ในงานศิลปะจึงปฏิบัติเข้มงวดตามประเพณีแบบแผนต่างๆ มีสัดส่วนชัดเจนเป็นมาตรฐานตามยุคสมัย ประติมากรรมส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและตำนานความเชื่อ  ซึ่งสำหรับชาวพม่าเรื่องราวต่างๆและรูปเคารพถือว่าล้วนมีความหมายลึกซึ้ง แม้เป็นเรื่องราวจากตำนานหรือนิทานปรัมปรา  ช่างก็ไม่สามารถถ่ายทอดจินตนาการได้ตามใจชอบหรือทำนอกเหนือประเพณีเดิม เพราะเป็นผลิตผลของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันยาวนาน 

สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของชาวพม่าโดยตลอด จนดูเหมือนว่าประติมากรรมคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน  แต่ศิลปะพม่าก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เมื่อชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครอง  ศิลปะซึ่งเคยยึดตามแบบประเพณีก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป  ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น 

ปัจจุบันศิลปะในประเทศพม่าจึงปรากฏทั้งแบบดังเดิมและแบบสมัยใหม่  แต่ก็นับว่าเป็นชาติที่ดำรงศิลปวัฒนธรรมแบบเดิมๆอยู่มากทีเดียว  และยังคงมีความโดดเด่นงดงามตามแบบฉบับเอกลักษณ์ของพม่าอีกด้วย

DSC_0011

อ้างอิง
ภภพพล  จันทร์วัฒนกุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะพม่า. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2553.
ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง. พิมพ์ครั้งที่2 . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2540 .
นวลจันทร์ คำปังสุ์. พม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2548 .
ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. เที่ยวดงเจดีย์ที่พม่าประเทศทางประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
ปัญญา  เทพสิงห์. ศิลปะเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
ศ.ฌอง บวสเซอลีเย่, Jean Boisselier. รวมบทความศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ทรงแปลโดย หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล.   กรุงเทพมหานคร : หอสมุดสาขาวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.
ณัฐพล โอจรัสพร. 2555. พระพุทธรูปศิลปะพม่า. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http:// www.antiqueofsiam.com. 1 กรกฎาคม  2555.
Somkiart Lopetcharat, Myanmar Buddha, the image and its history. Bangkok : Darnsutha, 2007.

text writer : Preuksapak Chorsakul  (ภฤศภัค  ช่อสกุล)

DSC_0009

Myanmar map

Advertisement
This entry was posted in Uncategorized. Bookmark the permalink.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s